ที่มาและความสำคัญของโครงการ
ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550) มาตรา 9 มาตรา 21 และมาตรา 42 กำหนดให้ต้องมีการจัดทำมาตรฐานในการจัดการพลังงานทั้งสำหรับโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ได้มีการจัดทำมาตรฐานเพื่อใช้สำหรับการประเมินสมรรถนะของการดำเนินการจัดการพลังงานที่ชัดเจนของโรงงานควบคุมตามที่ พ.ร.บ.ฯได้กำหนดไว้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำมาตรฐานในการจัดการพลังงาน โดยใช้รูปแบบของตัวชี้วัดสมรรถนะด้านการจัดการพลังงาน (Energy Performance Indicator) เพื่อเป็นค่าอ้างอิงสำหรับประเมินสมรรถนะด้านการจัดการพลังงานของโรงงานและอาคารควบคุมตามกฎหมาย
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลและส่งเสริมการดำเนินการด้านการอนุรักษ์พลังงานของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550) จึงเห็นควรให้มีการศึกษาและจัดทำแนวทางการประเมินผลการจัดการพลังงานตามกฎหมายสำหรับโรงงานควบคุมโดยใช้รูปแบบของตัวชี้วัดสมรรถนะด้านพลังงาน (Energy Performance Indicator) ดังกล่าว และได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงานโครงการฯ


วัตถุประสงค์ของโครงการ
- เพื่อจัดกลุ่มประเภทอุตสาหกรรมตามลักษณะของผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตและการใช้พลังงานในระดับรายละเอียด ให้มีความเหมาะสมต่อการจัดทำตัวชี้วัดสมรรถนะด้านพลังงาน (Energy Performance Indicator) สำหรับประเมินสมรรถนะด้านการจัดการพลังงานตามกฎหมาย
- เพื่อจัดทำตัวชี้วัดสมรรถนะด้านพลังงาน (Energy Performance Indicator) ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละกลุ่มประเภทอุตสาหกรรม
- เพื่อใช้ในการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานหรือแนวทางที่จะใช้ในการประเมินสมรรถนะของระบบการจัดการพลังงานภายใต้มาตรฐานดังกล่าว
- เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแล ส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงงานควบคุมมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ
-
โรงงานมีเครื่องมือ (ตัวชี้วัด) และมาตรฐานที่สามารถนำมาใช้ในการประเมินสมรรถนะระบบการจัดการพลังงานของโรงงานเอง ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงานของโรงงานมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและสามารถเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยคำนวณตัวชี้วัดตามขั้นตอนและวิธีการที่ระบุไว้ แล้วนำมาเปรียบเทียบค่ามาตรฐาของกลุ่มอุตาหกรรม เพื่อประเมินสมรรถนะของโรงงานเอง
-
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานมีเครื่องมือ (ตัวชี้วัด) และมาตรฐานในการประเมินผลการกำกับดูแลและผลของโครงการส่งเสริมและสนับสนุนด้านอนุรักษ์พลังงานที่ได้จัดทำขึ้นให้กับโรงงานควบคุม เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีประสิทธิภาพ ตรงกับความต้องการของโรงงานและกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น